ก่อนจะมาเป็นแบบวัด

แบบวัดแต่ละชุด คำถามแต่ละข้อ กว่าจะพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ได้ ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนมามิใช้น้อย

เริ่มตั้งแต่ การกำหนดเนื้อหา นิยาม และวัตถุประสงค์ของสิ่งที่ต้องการวัด จากนั้นศึกษาทฤษฎี/แนวคิดและงานวิจัยการเพื่อหาดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการวัด ซึ่งแบบวัดปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นแบบพหุปัจจัย ดัชนีชี้วัด จึงเป็นปัจจัยย่อยหลายปัจจัย

เมื่อได้ปัจจัยย่อยแล้ว ก็จะเริ่มเขียนข้อคำถาม หรือศัพท์ทางวิชาการที่ใช้กันคือ การเขียนข้อกระทงเพื่อวัดตามกรอบที่วางไว้

ข้อกระทงที่เขียนควรมีจำนวนมากกว่าที่ต้องการใช้จริง และทำการทดสอบเพื่อคัดเลือกข้อกระทงที่ดี โดยการหาค่าความเที่ยงกับค่าความตรงกับกลุ่มตัวอย่าง

ความเที่ยง (Reliability) คือ ดัชนีที่แสดงถึงความแม่นยำและความเที่ยงตรงของกระบวนการวัด ไม่ว่าจะวัดกี่ครั้ง ผลที่ได้จะยังคงเดิม

ส่วนความตรง (Validity) คือ การที่แบบวัดให้ข้อมูลที่สัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการวัดเพียงใด

แบบวัดบางประเภท ต้องคำนวณหาค่าสหสัมพันธ์ของปัจจัยย่อยด้วยว่าสอดคล้องกันหรือไม่

แบบวัดบางประเภทต้องหาค่าความยากง่ายของข้อกระทงแต่ละข้อ

เมื่อได้ข้อกระทงที่เหมาะสมครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนสุดท้าย คือการทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างเพื่อสร้างบรรทัดฐาน (NORM) เป็นเกณฑ์การตัดสิน

เมื่อแบบวัดใช้ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็อาจทำการปรับปรุงโดยการพัฒนาข้อกระทงเพิ่ม หรือปรับปรุงค่า NORM ใหม่